โปรโมชั่น!! ผ่อนชำระสินค้าเริ่มต้นที่ 0%

ส่องคุณสมบัติของที่นอนแต่ละประเภท

ส่องคุณสมบัติของที่นอนแต่ละประเภท

          ในการจะเลือกซื้อสินค้าสักหนึ่งชิ้น จำเป็นต้องผ่านการคิด ไตร่ตรองให้ดี ถึงรูปลักษณ์ คุณสมบัติ ประโยชน์ รวมไปถึงความคุ้มค่า และความสะดวกสบายในการใช้งาน ปัจจุบันที่นอนในท้องตลาดมีมากมายหลากหลายประเภทให้ได้เลือกซื้อเลือกใช้งานตามความต้องการ โดยที่นอนแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะ คุณสมบัติ ความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกันไป

          ซึ่งสิ่งที่ใช้จำแนกแยกประเภทของที่นอนก็คือตัววัสดุที่ใช้ในการผลิต หรือประกอบสร้างเป็นที่นอน มีทั้งวัสดุจากธรรมชาติ วัสดุสังเคราะห์ หรือแม้แต่การนำทั้งวัสดุธรรมชาติ และสังเคราะห์มาผสมกันในกระบวนการผลิต โดยจะสามารถแบ่งประเภทของที่นอนได้ ดังนี้

  1. ที่นอนยางพารา (Latex Mattress)

          เป็นที่นอนที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ นั่นก็คือการผ่านกระบวนการขึ้นรูปที่นอนจากน้ำยางพาราที่ได้จากธรรมชาติ มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องความยืดหยุ่นสูง ทำให้ไม่เกิดการยุบตัวจากการใช้งาน สามารถรับน้ำหนักตัวของผู้นอนได้เป็นอย่างดี ทนทาน แข็งแรง ใช้งานได้อย่างยาวนาน ไม่กักเก็บความชื้น และฝุ่นละออง แต่จะมีน้ำหนักที่มาก และราคาสูงกว่าที่นอนประเภทอื่น ๆ จึงทำให้ในปัจจุบันมีการนำวัสดุอื่นมาประกอบในการผลิตที่นอน เพื่อลดน้ำหนักและต้นทุน เช่น ฟองน้ำ ยางสังเคราะห์

          1.1 ที่นอนยางพาราแท้

                    ผลิตจากยางพาราแท้ธรรมชาติ100% ไม่มีวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ มาผสม โดยจะถูกขึ้นรูป และผ่านกระบวนการอบในระดับอุณหภูมิที่เหมาะสม ออกมาเป็นแผ่นที่นอนขนาดใหญ่

          1.2 ที่นอนยางพาราอัด

                    เป็นการนำเศษยางพาราแท้ มาสังเคราะห์ และบีบอัดรวมกันให้เป็นก้อนใหญ่ ๆ จากนั้นนำมาขึ้นรูปเป็นที่นอน

  1. ที่นอนสปริง (Spring Mattress)

          คนมักนิยมใช้งานที่นอนสปริงกันอย่างแพร่หลาย เป็นที่นอนที่มีการผสมระหว่างวัสดุจากธรรมชาติกับวัสดุสังเคราะห์ มีคุณสมบัติการยืดหยุ่น และการคืนตัวได้อย่างดีเยี่ยม รองรับ และกระจายน้ำหนักได้ดี มีความหนามาก เนื่องจากมีการใส่สปริงเข้าไประหว่างชั้นที่นอนเพื่อทำหน้าที่รับน้ำหนัก และดูดซับแรงกดทับ แรงกระแทก ค่อนข้างมีความทนทานสูง

          2.1 ที่นอนบอนแนลล์สปริง

                   ระบบสปริงแบบดั้งเดิม ที่มีลักษณะการยึดสปริงแต่ละลูกเข้าไปในแผ่นที่นอน ใช้คอยล์ลวดที่เชื่อมกัน ส่งผลให้ยังไม่ค่อยมีความแน่นหนามากนัก หากสปริงเกิดล้ม ก็จะส่งผลให้รูปทรงของที่นอนเปลี่ยนไป และยังสามารถเกิดการเสียดสีระหว่างสปริงทำให้เกิดเสียงดัง และรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหว ขณะที่มีการพลิกตัวไปมา หรือขยับตัวบนที่นอน

          2.2 ที่นอนพ็อกเก็ตสปริง

                    ระบบสปริงแบบแยกอิสระ วางเรียงเป็นแถวภายใต้ชั้นที่นอน ตัวสปริงจะถูกสวมด้วยถุงผ้าอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการเสียดสีระหว่างกัน ทำให้ไม่เกิดเสียงดังรบกวน มีการรองรับน้ำหนักเฉพาะส่วน ทำให้ไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนไหว ขณะอีกฝ่ายขยับตัวบนที่นอน หรือลุกจากที่นอน

  1. ที่นอนฟองน้ำ (Sponge Mattress)

          เป็นที่นอนที่ใช้วัสดุสังเคราะห์ นั่นก็คือเศษฟองน้ำ มาบีบอัดเป็นก้อนแล้วนำไปเข้ากระบวนการทางเคมี เพื่อนำมาขึ้นรูปทรงที่นอนให้ได้ขนาดตามต้องการ มีความยืดหยุ่น รองรับน้ำหนักได้ดี แต่น้อยกว่าที่นอนยางพาราแท้ จึงมีการนิยมนำใยมะพร้าวมาผสม เพื่อให้ได้ที่นอนที่มีความแข็งมากขึ้น สามารถรองรับน้ำหนักได้ดีมากขึ้น และไม่ยุบตัว

  1. ที่นอนใยมะพร้าว (Coconut Fiber Mattress)

          ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ นั่นก็คือเส้นใยมะพร้าว โดยนำมาทอเป็นแผ่น ผ่านกระบวนการอัดแน่น และอบด้วยความร้อน จนได้เป็นรูปทรงของที่นอน น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นน้อย ไม่ยุบตัว ไม่เป็นแอ่งเวลานอน เป็นที่นอนที่ค่อนข้างมีความแข็ง และกระด้างในระดับหนึ่ง จึงนิยมนำฟองน้ำมาประกอบเสริม เพื่อเพิ่มความนุ่มสบาย ไม่ควรใช้งานต่อหากเสื่อมคุณภาพ เนื่องจากจะเกิดการเปื่อยยุ่ยเป็นฝุ่นผง ทำให้อาจส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้

  1. ที่นอนนุ่น (Kapok Mattress)

          ทำจากผลผลิตที่เป็นเส้นใยที่มาจาก ต้นนุ่น เป็นวัสดุธรรมชาติ นิยมใช้ในการนำไปยัดเป็นไส้ในของหมอน ที่นอน ตุ๊กตา ระบายอากาศได้ดี ไม่กักเก็บความร้อน โดยที่นอนนุ่นมักจะถูกออกแบบในรูปทรงของที่นอนขนาดเล็กที่ใช้สำหรับเตียงเดี่ยว 3-4 ฟุต หรือมักนิยมใช้งานในรูปแบบที่นอนพับ ที่นอนปิกนิก วางนอนกับพื้น เนื่องจากมีลักษณะเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวก หากต้องการใช้งานเป็นที่นอนขนาดใหญ่ จะนิยมใช้แบบวาง  3 ท่อนต่อกันเป็นแผ่นใหญ่ ทำให้สามารถสลับใช้งานในส่วนที่เกิดการยุบตัวได้

 

          การศึกษาคุณสมบัติของที่นอน ลักษณะ วัสดุที่ใช้ในการผลิต เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบได้ว่าที่นอนประเภทไหน เหมาะสมกับการใช้งาน และข้อจำกัดของเรามากที่สุด ที่นอนแบบไหน จะสามารถรองรับสรีระร่างกายของเราได้อย่างดีที่สุด เพื่อให้ได้ที่นอนที่ดี มีคุณภาพ ที่จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพการนอนที่ดีให้กับเรา